ค.ศ. 1702 ของ มหาสงครามเหนือ

สมรภูมิรบแห่งเออร์ราสต์เฟอร์

ยุทธการเออร์ราสต์เฟอร์

ไม่นานนัก หลังจากผ่านไปหนึ่งเดือนกว่า บอริส เชรเมเทฟ แม่ทัพแห่งรัสเซียก็ได้นำทัพกลับมาโจมตีสวีเดนในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1702 ณ สมรภูมิเออร์ราสต์เฟอร์ ดินแดนสวีดิชลิโวเนีย ยุทธการครั้งนี้กองทัพรัสเซียยังคงยกพลมาถึง 12,000 นาย ขณะที่สวีเดนยังคงยกทัพมาน้อยนิดเพียงแค่ 2,200 นายเท่านั้น การศึกครั้งนี้กองทัพรัสเซียประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายด้วยการสังหารกองทัพสวีเดนลงถึง 750 นาย จับนายทหารอีก 350 คนไปเป็นเชลยสงครามและยังได้ยุทโธปกรณ์สงครามของสวีเดนมาครองถึง 4 กระบอก ถึงแม้กองทัพรัสเซียจะสูญเสียกองทหารไปมากถึง 3,000 กว่าคนก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นชัยชนะครั้งแรกของรัสเซียในสงครามครั้งนี้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของกองทัพรัสเซียไปในภายภาคหน้าอีกเช่นกัน

ยุทธการฮัมเมลชอฟ

ครึ่งปีผ่านมาหลังจากยุทธการเออร์ราสต์เฟอร์ผ่านไป กองทัพรัสเซียด้วยกำลังทหาร 24,000 นาย[18]ได้ยกทัพมาที่กรุงตาร์ตู ดินแดนสวีดิชลิโวเนีย เพื่อเข้าโจมตีกองทัพสวีเดนที่มีกำลังรบเพียง 5,700 นาย[18] สงครามครั้งนั้นยังคงนำด้วยสองแม่ทัพอันเป็นศัตรูเก่ามาหลายยุทธการ นั่นคือบอริส เชรเมเทฟ แห่งรัสเซีย และวิลเฮล์ม อันตง วอน ชลิพเพนบาร์ชแห่งสวีเดน โดยทั้งสองกองทัพได้เข้าปะทะกันที่สมรภูมิใกล้เมืองฮัมเมลชอฟ ในตอนแรกกองทหารสวีเดนสามารถเอาชนะรัสเซียแล้วชิงเอาปืนใหญ่มาได้ 5-6 กระบอก แต่ในเวลาต่อมา เมื่อกองทัพหลวงแห่งรัสเซียเดินทางมาถึง กองทัพสวีเดนก็เปิดศึกด้วยการเข้าโจมตีทันที หากแต่กองทหารราบรัสเซียได้กระจายทัพเข้าล้อมกองทัพสวีเดนไว้แล้วจึงเริ่มโจมตีกลับทันที ด้วยแสนยานุภาพทางการทหารที่สำนักพระราชวังรัสเซียภายใต้การบัญชาของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ได้ทำการฝึกฝนทหารรัสเซียเป็นอย่างดี จึงทำให้สงครามครั้งนี้รัสเซียมีชัยเหนือสวีเดนได้อย่างสวยงาม โดยสามารถสังหารทหารฝ่ายตรงข้ามได้ถึง 1,000-2,000 นาย เกณฑ์ไปเป็นเชลยสงครามได้ถึง 238 คน และยังยึดปืนใหญ่กลับมาไว้ในครอบครองได้ถึง 15 กระบอก ในขณะที่ทหารฝ่ายของตนบาดเจ็บสาหัสและล้มตายเพียงแค่ 1,000 นายจากทั้งหมด 24,000 นายเท่านั้น ชัยชนะครั้งที่สองของรัสเซียครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันถึงแสนยานุภาพทางการทหารที่พัฒนาขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดของรัสเซียเป็นอย่างดี

สมรภูมิแห่งคลิสโซว์

ยุทธการคลิสโซว์

สืบเนื่องมาจากการที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทรงสืบรู้มาทีหลังว่าพระเจ้าออกัสตัสที่ 2โปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีทรงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการรวมตัวของระหว่างกองกำลังสามเหล่าทัพ คือกองทัพรัสเซียของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช กองทัพเดนมาร์ก-นอร์เวย์ของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 4 และกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีของตัวพระองค์เอง[8] หลังจากที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12ทรงมีชัยเหนือกองทัพรัสเซียในยุทธการนาร์วาแล้ว[19] พระองค์ก็ได้ผลักกองกำลังโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีให้กลับไปยังเขตของตนได้สำเร็จ และอีกสองปีให้หลัง พระองค์ยังติดตามพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ไปในโปแลนด์-ลิทัวเนียต่ออีกด้วย[20]

ณ ดินแดนคลิสโซว์ ตอนใต้ของเมืองเคียลเซอ เวลา 11 นาฬิกา วันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1702 พระเจ้าคาร์ลที่ 12[21] พร้อมด้วยทหารราบ 8,000 นาย ทหารม้า 4,000 นาย และปืนครก 4 กระบอก[21] ได้ยาตราศึกเข้าปะทะกับกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีของพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ที่มีกองทหารราบ 7,500 นาย ทหารม้าแซกซอน 9,000 นาย ทหารม้าโปแลนด์ 6,000 นาย และปืนครกยาว 46 กระบอก[21] รวมแล้วฝั่งสวีเดนมีกำลังรบ 12,000 นาย ในขณะที่ฝั่งโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีมีกำลังรบมากถึง 22,500 นาย นับว่ามากกว่าฝั่งสวีเดนเกือบ 2 เท่าทีเดียว

พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ได้แบ่งทัพออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนซ้ายอันเป็นของชาวแซกซอนจะนำโดยโยฮันน์ แมธเธียส วอน ชูเลนเบิร์ก ทัพกลางอันเป็นกำลังผสมนำโดยตัวพระองค์เอง ปีกขวาฝ่ายทหารม้านำโดยจาคอบ เฮนริช วอน เฟลมมิง และปีกขวาฝ่ายทหารราบชาวโปลิชนำโดยฮีโรนิม ออกัสติน ลูโบเมิร์สกี[21] แล้วเข้าโอบกองทัพสวีเดน แต่แล้วกองทัพสวีเดนก็ใช้กลศึกพลิกกลับมาใช้ปีกกองทัพที่กระจายตัวอยู่ด้านนอกโอบเข้าอีกเป็นชั้นที่สอง ทำให้กองทัพชาวโปแลนด์ปีกขวาและทัพแซกซอนปีกซ้ายพ่ายแพ้อย่างยับเยิน[21] ทำให้ลูโบเมิร์สกีต้องตัดสินใจถอยทัพหนี เปิดโอกาสให้ทัพแซกซอนอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วและทำให้พระเจ้าคาร์ลที่ 12 สามารถเข้าบุกตีค่ายทหารของฝ่ายโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีได้โดยง่ายภายในครึ่งชั่วโมง ทำให้พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ต้องถอยทัพหนีลงหนองน้ำไปในที่สุด[21]

ชัยชนะครั้งนี้แม้สวีเดนจะได้ยุทโธปกรณ์สงคราม เสบียงและสัมภาระของทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียมาครอง แต่ก็ต้องแลกด้วยการสูญเสียพี่เขยอย่างดยุคเฟรเดอริคที่ 4 แห่งโฮลสไตน์-ก็อธธอร์ปของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 จากการถูกพระแสงปืนใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามเข้าจนสิ้นพระชนม์ในที่สุด ขณะที่อีกด้านนั้นทัพแซกซอนก็ยังคงรอดมาได้ด้วยการนำทัพของแม่ทัพชูเลนเบิร์กแห่งแซกซอนโดยสวัสดิภาพ ยุทธการครั้งนี้กองทัพสวีเดนสามารถสังหารทหารกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีได้มากถึง 2,000 นาย จับไปเป็นเชลยสงครามได้มากถึง 1,000 นาย[21] ขณะที่สวีเดนมีทหารที่บาดเจ็บสาหัส 900 นายและล้มตายเพียงแค่ 300 นายเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1702 กองทัพสวีเดนภายใต้พระบัญชาแห่งพระเจ้าคาร์ลที่ 12 จึงได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองคราคอว์ในดินแดนของโปแลนด์-ลิทัวเนีย กองทัพฝ่ายเจ้าบ้านจึงต้องย้ายทัพไปยังเมืองซานโดเมียร์ซเพื่อตั้งรับขึ้นอีกครั้ง

พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ท่ามกลางกองทัพรัสเซียในการปิดล้อมเนอเตเบิร์ก

การปิดล้อมแห่งเนอเตเบิร์ก

การปิดล้อมแห่งเนอเตเบิร์กเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1702[22] โดยเป็นศึกที่กองทัพรัสเซียอันประกอบด้วยทหารราบกว่า 35,000 นาย นำโดยพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 และบอริส เชรเมเทฟ เข้าล้อมป้อมเนอเตเบิร์กของกองทัพสวีเดนที่มีกองทหารเพียงแค่ 389 นายเท่านั้น โดยแต่เดิม บอริส เชรเมเทฟ แม่ทัพแห่งรัสเซียได้ตั้งค่ายอยู่ริมแม่น้ำเนวาอยู่ก่อนแล้วด้วยกำลังพลถึง 12,000 แล้วกองทัพของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 จึงได้ตามมาสมทบในอีกสิบวันให้หลังจนครบ 35,000 คน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1702 กองทัพรัสเซียภายใต้คำสั่งของบอริส เชรเมเทฟจึงออกเดินหน้ามุ่งไปยังป้อมเนอเตเบิร์ก[23]แล้วเริ่มเปิดศึกต่อฝ่ายสวีเดนทันที โดยทางกองทัพรัสเซียใช้กลยุทธ์การระเบิดป้อมเข้าสู้ แม้สุดท้ายแล้วกลยุทธ์จะล้มเหลวเพราะปืนใหญ่ระเบิดออกก็ตาม แต่ด้วยการปิดล้อมและการต่อสู้ติดต่อกันมาหลายวันทำให้ทหารสวีเดนต้องบาดเจ็บสาหัส อดอาหาร ติดเชื้อ และตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายสวีเดนต้องยอมจำนนต่อกองทัพรัสเซียเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1702 ในที่สุด [24]

หลังสงครามครั้งนี้ จักรวรรดิรัสเซียก็ได้ป้อมเนอเตเบิร์กและดินแดนรอบป้อมมาครองในที่สุด รวมถึงยังได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระเจ้าปีเตอร์มหาราชว่า "ป้อมชลิสเซลเบิร์ก"[23] อันมีความหมายว่า "กุญแจแห่งดินแดน" และใช้ป้อมเป็นที่ตั้งมั่นเพื่อเข้ายึดดินแดนทางตะวันตกอีกด้วย โดยขณะนั้นพระองค์ไม่ทรงทราบเลยว่าต่อไปในภายภาคหน้า ป้อมนี้จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการรวบรวมดินแดนรอบแม่น้ำเนวา แต่ต้องแลกกับการที่ต้องเสียเวลาในการบูรณะซ่อมแซมป้อมที่โดนระเบิดของฝ่ายตัวเองถึง 16,554 ลูก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ป้อมบูรณะเสร็จอย่างรวดเร็ว พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ยังได้เสด็จมาฉลองชัยชนะที่ป้อมพร้อมกับแต่งตั้งอเล็กซานเดอร์ เมนชิคอฟ ขึ้นเป็นแม่ทัพประจำป้อมอีกด้วย[22]

ใกล้เคียง

มหาสงครามจอกศักดิ์สิทธิ์ มหาสงครามเหนือ มหาสงครามชิงพิภพ มหาสงครามพิภพวานร มหาสงครามกู้แผ่นดิน มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม มหาสงครามวินาศสตาลินกราด มหาสงครามซู ค.ศ. 1876 มหาสงครามกู้แผ่นดิน 2 มหาสงครามลูกแก้วมากะ